กัญชา ถูกเปลี่ยนแปลงอย่างไร เมื่อเข้าสู่ร่างกายแล้ว


สารไฟโตแคนนาบินอยด์ จากพืชกัญชาหรือกัญชง เมื่อเข้าสู่ร่างกายแล้ว จะมีการเปลี่ยนแปลงต่างๆ เหมือนกับยาสมุนไพร หรือ ยาเคมีชนิดอื่นๆ เพื่อให้เปลี่ยนเป็นสารที่ออกฤทธิ์ได้ หรือ ทำให้ง่ายต่อการที่ร่างกายจะขับออกจากร่างกาย

สารหลักในกลุ่มไฟโตแคนนาบินอยด์ คือ สาร THC และ สาร CBD จะถูกเปลี่ยนแปลงในร่างกาย 2 ขั้นตอน หรือ 2 เฟส ดังนี้

เฟสที่ 1 (Phase I)

จะเกิดขึ้นบริเวณตับ ซึ่งเป็นบริเวณที่จะมีการเปลี่ยนแปลงในขั้นตอนต่างๆมากมาย โดยส่วนใหญ่จะเกี่ยวข้องกับระบบเอนไซม์ที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนสารไฟโตแคนนาบินอยด์ ดังกล่าว


เอนไซม์ที่เกี่ยวข้อง จะเรียกว่า ไซโตโครม P 450 (Cytochrome P450) หรือ ชื่อย่อว่า CYP 450 ที่จะมีชนิดย่อยๆลงไปอีก เช่น

เอนไซม์ CYP 2C9 , CYP 2C19 และ CYP 3A4 เข้ามาเปลี่ยนแปลงสาร THC ให้กลายเป็นสาร 11-OH-THC หรือ 11-COOH-THC

ส่วนเอนไซม์ CYP 2C9, CYP 2C19, CYP 3A4, CYP 1A2 และ CYP 2D6 เข้ามาเปลี่ยนแปลงสาร CBD ให้กลายเป็นสาร 7-OH-CBD หรือ สาร COOH-CBD ตามรูปภาพประกอบข้างล่าง

ส่วนการเปลี่ยนแปลงอีกขั้นตอนหรือเฟสที่ 2 ก่อนที่สารไฟโตแคนนาบินอยด์จะถูกกำจัดออกจากร่างกาย มีรายละเอียด ดังนี้

เฟสที่ 2 (Phase II)

หรือเรียกขั้นตอนนี้ว่า Glucuronidation ซึ่งเป็นการเตรียมความพร้อมของสารไฟโตแคนนาบินอยด์ เพื่อที่จะได้ขับออกจากร่างกาย ซึ่งสารไฟโตแคนนาบินอยด์ เช่น สาร THC กับ สาร CBD จะถูกขับออกจากร่างกายผ่านทาง อุจจาระและปัสสาวะ เป็นหลัก


โดยสาร THC ที่ถูกเปลี่ยนแปลงในเฟสที่ 1 จะถูกเปลี่ยนแปลงในเฟสนี้ เป็นสารที่ชื่อว่า 11-nor-9-carboxy-THC glucuronide แล้วทำการขับออกจากร่างกายต่อไป

ส่วนสาร CBD ที่ถูกเปลี่ยนแปลงในเฟสที่ 2 นี้ จะกลายเป็นสารที่ชื่อว่า COO-CBD-Glucuronide ซึ่งจะถูกขับออกจากร่างกาย

สารไฟโตแคนนาบินอยด์จากกัญชา กัญชง ถูกเปลี่ยนแปลงที่ตับ เพื่อทำการขับออกจากร่างกายผ่าน 2 ขั้นตอนหลัก

สั่งซื้อหนังสือได้ ตามรายละเอียดข้างบนได้เลยครับ

กัญชา กัญชง ถูกเปลี่ยนแปลงที่ตับ เหมือนกับ ยาอื่นๆ ถ้าไม่เข้าใจการใช้ แทนที่จะได้ประโยชน์ อาจได้รับอันตรายแทน ศึกษาให้เข้าใจก่อนใช้ เพราะ สมุนไพรดีๆ ถ้าใช้ไม่เป็น ก็อันตรายได้

อ้างอิงบางส่วนจาก

Drug-drug interactions as a result of co-administering ∆9 -THC and CBD with other psychotropic agents. Expert Opin Drug Saf. 2018;17(1):51–4.

Chemistry, metabolism, and toxicology of cannabis: clinical implications. Iran J Psychiatry. 2012;7(4):149–56.

The pharmacokinetics and the pharmacodynamics of cannabinoids. Br J Clin Pharmacol. 2018; 84(11):2477–82.

Human cannabinoid pharmacokinetics. Chem Biodivers. 2007;4(8):1770–804.

Pharmacokinetics and pharmacodynamics of cannabinoids. Clin Pharmacokinet. 2003;42(4):327–60.

Exogenous cannabinoids as substrates, inhibitors, and inducers of human drug metabolizing enzymes: a systematic review. Drug Metab Rev. 2014;46(1):86–95.

More Science Less Markting

ภก.พงษ์ศักดิ์ สง่าศรี