กัญชา จะรักษาโรคสะเก็ดเงินได้อย่างไร


โรคสะเก็ดเงิน (Psoriasis) เป็นโรคผิวหนังที่เรื้อรังที่เกิดจากการแบ่งตัวผิดปกติของเซลล์ผิวหนังอย่างรวดเร็วกว่าปกติ มีการอักเสบเกิดขึ้น จนเกิดเป็นผื่นหนาขนาดใหญ่ มีลักษณะเป็นสีเงินและแดงที่ผิวหนังได้ทั่วร่างกาย โรคนี้สามารถเกิดขึ้นได้ในคนทุกเพศทุกวัย

โรคสะเก็ดเงินสามารถจำแนกตามประเภทได้ เช่น

            โรคสะเก็ดเงินชนิดผื่นหนาหรือปื้นหนา ชนิดนี้พบมากที่สุด โดยพบประมาณ 80% ซึ่งบริเวณผิวหนังจะมีลักษณะเป็นผื่นแดงหนาคลุมด้วยสีเงิน มักเกิดขึ้นกับผิวบริเวณข้อศอก หัวเข่า และหนังศีรษะ เป็นต้น

            โรคสะเก็ดเงินชนิดผื่นขนาดเล็ก ชนิดนี้มักเกิดกับเด็กและวัยรุ่นเป็นส่วนใหญ่ โดยพบได้ประมาณ 10% ของโรคสะเก็ดเงิน ลักษณะผิวหนังจะเป็นจุดสีชมพูขนาดเล็ก และอาจเป็นผื่นหนาสีแดงได้เช่นกัน มักพบบ่อยที่แขน ขา หรือตามลำตัว

            โรคสะเก็ดเงินชนิดที่มีตุ่มหนอง เป็นชนิดที่เกิดได้มากในวัยผู้ใหญ่ บริเวณผิวหนังมีตุ่มหนองสีขาวกระจายเป็นวงกว้างและเกิดการอักเสบจนแดง มักพบบริเวณแขนขา อาจเกิดการแพร่กระจายไปทั่วลำตัวได้

            โรคสะเก็ดเงินชนิดเกิดตามข้อพับ ผิวหนังมักเป็นผื่นแดง มีความเรียบและเงา มักพบตามข้อพับและซอกต่าง ๆ ตามร่างกาย เช่น หน้าอก รักแร้ ขาหนีบ เป็นต้น  

            โรคสะเก็ดเงินชนิดผื่นแดงลอกทั่วตัว เป็นชนิดที่รุนแรงและพบได้น้อย เพราะสามารถเกิดขึ้นได้ประมาณ 3% จะพบผิวหนังมีลักษระผื่นแดงขนาดใหญ่และลอกอย่างรุนแรง

อาการของโรคสะเก็ดเงิน

            ผู้ป่วยจะมีอาการที่แตกต่างกันออกไปตามชนิดของโรคสะเก็ดเงิน เช่น ผิวหนังมีลักษณะแดง ตกสะเก็ดเป็นขุยสีขาว เป็นผื่นแดงนูน เกิดการอักเสบของผิว ผิวแห้งมากจนแตกและมีเลือดออก หนังศีรษะลอกเป็นขุย เล็บมือและเท้าหนาขึ้น คัน หรือรู้สึกแสบร้อนบริเวณผิวหนัง  

            ซึ่งอาการอาจคงอยู่นานหลายวันไปจนถึงหลายสัปดาห์ แล้วค่อย ๆ บรรเทาลง แต่เมื่อมีสิ่งมากระตุ้นก็อาจทำให้อาการของโรคกำเริบขึ้นมาได้ หมุนเวียนอาการกำเริบ อาการสงบ อยู่เรื่อยๆได้

สาเหตุการเกิดโรคสะเก็ดเงิน

            ยังไม่พบสาเหตุการเกิดที่แน่ชัด แต่เชื่อว่าปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดโรคขึ้น อาจมาจากเซลล์เม็ดเลือดขาวในระบบภูมิคุ้มกันทำงานที่ผิดปกติ จึงได้ทำลายเซลล์ผิวหนังแทนสิ่งแปลกปลอมที่เข้าสู่ร่างกาย หรือ กระตุ้นให้เซลล์ผิวหนังแบ่งตัวอย่างรวดเร็วและมากกว่าผิวหนังของคนทั่วไป และอีกปัจจัยน่าจะมาจากการถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์ เป็นต้น

ภาวะแทรกซ้อนของโรคสะเก็ดเงิน

            ภาวะแทรกซ้อนจากโรค เช่น โรคข้ออักเสบ โรคเกี่ยวกับหัวใจและหลอดเลือด โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง หรือทำให้เกิดการติดเชื้อได้ ส่วนใหญ่มักจะเกิดกับผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงของโรคระดับปานกลางไปจนถึงรุนแรง

การรักษาปัจจุบัน

            ในปัจจุบันการรักษาอาจทำได้เพียงบรรเทาอาการให้ผู้ป่วยรู้สึกดีขึ้น ลดการอักเสบของผิวหนังที่ตกสะเก็ด ชะลอการแบ่งตัวและเติบโตของเซลล์ผิวหนัง และช่วยขจัดผิวหนังที่เป็นแผ่นแข็งออกไป ซึ่งการรักษาสามารถทำได้หลายวิธี เช่น ถ้ามีอาการเพียงน้อยถึงปานกลางอาจทำการรักษาด้วยการใช้ยาทาภายนอก

                ส่วนถ้ามีอาการปานกลางจนถึงรุนแรง อาจรักษาด้วยการใช้ยารับประทาน ยาฉีด หรือการฉายแสงด้วยรังสีอัลตราไวโอเลต ซึ่งการรักษานั้น อาจใช้หลายวิธีควบคู่กันหรือเพียงวิธีเดียว เพื่อช่วยให้อาการดีขึ้น

การใช้สมุนไพรรักษาโรคสะเก็ดเงิน

            ว่านหางจระเข้ มีสรรพคุณในการลดการอักเสบ สมานแผล ต้านเชื้อแบคทีเรีย และช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นแก่ผิวหนัง อีกทั้งยังสามารถช่วยบรรเทาอาการของโรคผิวหนัง โรคภูมิแพ้ผิวหนัง และโรคสะเก็ดเงินได้ ช่วยลดการอักเสบของผิว ผื่นแดง ผิวที่ตกสะเก็ด

            น้ำมันมะพร้าว ในน้ำมันมะพร้าวมีกรดลอริกที่มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อโรคได้และยังช่วยเสริมระบบภูมิคุ้มกันให้กับร่างกาย การใช้น้ำมันมะพร้าวทาผิวอย่างต่อเนื่องจะช่วยบรรเทาอาการสะเก็ดเงินได้

ระบบเอ็นโดแคนนาบินอยด์เกี่ยวข้องอะไรกับโรคสะเก็ดเงิน

            ระบบเอ็นโดแคนนาบินอยด์ในร่างกายควบคุมระบบภูมิคุ้มกัน ควบคุมระบบการส่งกระแสประสาท และยังควบคุมการอักเสบที่เกิดขึ้นในร่างกาย ซึ่งทั้งสามระบบนี้มีความเกี่ยวข้องกับการเกิดโรคสะเก็ดเงิน และถึงแม้จะยังไม่ทราบสาเหตุของการเกิดโรคอย่างแท้จริง

แต่ปัจจุบันก็ทราบว่าโรคนี้เป็นโรคที่มีการอักเสบอย่างเรื้อรังของผิวหนัง ที่เกิดจากการทำงานที่ผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันและการประสานงานของระบบประสาทที่ส่งสัญญานผิดปกติ จึงเหนี่ยวนำให้เกิดความผิดปกติหลักๆขึ้นที่ผิวหนัง ทำให้ผิวหนังลอกเป็นสะเก็ด ผิวหนังมีการแบ่งตัวเร็วและมากกว่าผิวหนังของคนปกติทั่วไป

            จากกลไกหลักของการเกิดโรคขึ้นมา จะเห็นว่า ระบบเอ็นโดแคนนาบินอยด์จึงเป็นเสมือนระบบที่มีบทบาทเข้าไปควบคุมการเกิดโรคเหล่านี้ได้ และถ้าระบบเอ็นโดแคนนาบินอยด์ทำงานผิดพลาดหรือไม่สามารถควบคุมการทำงานของสาเหตุเหล่านี้ได้ ก็จะทำให้เซลล์ของผิวหนังเกิดการแบ่งตัวที่มากและเร็วกว่าปกติ และก็จะแสดงออกมาในรูปแบบผิวหนังหลุดลอกเป็นสะเก็ดๆตามชื่อของโรค นั่นเอง

ทำไมต้องใช้กัญชา

            สารไฟโตแคนนาบินอยด์จากกัญชา สามารถทำงานควบคุมหรือสั่งการการทำงานของระบบเอ็นโดแคนนาบินอยด์ในร่างกายได้ เพราะสารในกัญชาออกฤทธิ์ผ่านตัวรับเดียวกันกับที่สารเอ็นโดแคนนาบินอยด์ที่ร่างกายสร้างขึ้น ทำให้สามารถควบคุมการทำงานของระบบเอ็นโดแคนนาบินอยด์ให้เกิดความสมดุลได้

ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่การเกิดโรคส่วนหนึ่งเกิดจากความผิดปกติของระบบเอ็นโดแคนนาบินอยด์ กัญชาจึงสามารถเข้าไปมีผลต่อการบรรเทาหรือรักษาโรคสะเก็ดเงินได้

กัญชาเกี่ยวข้องกับโรคสะเก็ดเงินอย่างไร

            เนื่องจากในผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงิน มีการตรวจพบระดับสารเอ็นโดแคนนาบินอยด์ AEA และ สาร 2-AG เพิ่มขึ้นในน้ำเลือดของผู้ป่วย รวมทั้งมีการตรวจพบทั้งตัวรับ CB1 และ CB2 และเอนไซม์ Fatty acid amide hydrolase หรือ FAAH ซึ่งเป็นเอนไซม์ในการทำลายสาร AEA เพิ่มขึ้นขึ้นด้วยเช่นกัน

จากภาพประกอบจะเห็นว่า การที่สารไฟโตแคนนาบินอยด์จากกัญชา หรือ กัญชง สามารถเข้าจับตัวรับ CB1 หรือ CB2 ในระบบเอ็นโดแคนนาบินอยด์ และสามารถยับยั้งการแบ่งเซลล์ของผิวหนังที่มากเกินไปของโรคสะเก็ดเงิน


กัญชา กัญชง จึงจะช่วยในการรักษาโรคสะเก็ดเงินได้ นั่นเอง

            สารไฟโตแคนนาบินอยด์จากกัญชา สามารถเข้าไปจับกับตัวรับเหล่านี้ และยังสามารถยับยั้งเอนไซม์ FAAH ไม่ให้ไปทำลายสาร AEA ที่ร่างกายผลิตขึ้นเอง จึงทำให้ผู้ป่วยมีโอกาสดีขึ้นจากโรคสะเก็ดเงินได้

แนวทางการใช้กัญชา ร่วมกับสมุนไพรอื่น ในการรักษาโรคสะเก็ดเงิน

          การใช้กัญชา ร่วมกับการรักษาจากยาหรือสมุนไพรอื่นๆ ก็มีข้อควรระวังเช่นกัน แต่เนื่องจากยาส่วนใหญ่ที่ใช้รักษาโรคสะเก็ดเงินมักจะเป็นยาใช้ภายนอกที่อยู่ในรูปแบบยาทา เช่น ครีม ขี้ผึ้ง น้ำมันสมุนไพร เป็นต้น

            ซึ่งการตีกันของยาทาภายนอก ไม่ค่อยจะเกิดผลข้างเคียงที่อันตราย เมื่อเทียบกับ ยาที่อยู่ในรูปแบบรับประทาน การใช้กัญชาแบบยาทาร่วมกับยาทาอื่นๆ จึงค่อนข้างปลอดภัย

ห้ามพลาดการใช้กัญชา กัญชง อย่างถูกหลักการแพทย์ ในหนังสือคู่มือเล่มนี้ สั่งได้เลย

เอกสารอ้างอิง

Pathophysiological Alterations of Redox Signaling and Endocannabinoid System in Granulocytes and Plasma of Psoriatic Patients. Cells 2018, 7, 159

Cannabinoid Signaling in the Skin: Therapeutic Potential of the “C(ut)annabinoid” System. Molecules 2019, 24, 918

Turning Over a New Leaf: Cannabinoid and Endocannabinoid Modulation of Immune Function. J Neuroimmune Pharmacol. 2015 Jun;10(2):193-203.

The endocannabinoid system of the skin in health and disease: novel perspectives and therapeutic opportunities. Trends Pharmacol Sci. 2009 Aug; 30(8): 411–420.

Cannabis for Refractory Psoriasis-High Hopes for a Novel Treatment and a Literature Review. Curr Clin Pharmacol. 2016;11(2):146-7.

More Science Less Marketing

ภก.พงษ์ศักดิ์ สง่าศรี