กัญชา จะมารักษาภาวะไขมันพอกตับได้อย่างไร


ไขมันพอกตับ (Fatty Liver Disease) คือ ภาวะที่ไขมันสามารถเข้าไปแทรกที่เซลล์ของเนื้อตับได้ ซึ่งถ้าสะสมมากกว่า 5-10% ของน้ำหนักตับ จะถือว่าเป็นภาวะไขมันพอกตับ ทำให้ตับเกิดการอักเสบ หรือเซลล์ตับตายได้ และจะเกิดพังผืดภายในเนื้อตับ และสุดท้ายจะกลายเป็นโรคตับแข็งในที่สุด 

            ซึ่งหากตรวจพบภาวะไขมันพอกตับตั้งแต่ระยะเริ่มแรก ก็สามารถฟื้นฟูสภาพตับให้กลับมาปกติได้ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต เช่น การควบคุมน้ำหนัก การออกกำลังกายสม่ำเสมอ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์และมีไขมันต่ำ เป็นต้น

โดยไขมันพอกตับสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท คือ

1. ภาวะไขมันพอกตับจากการดื่มแอลกอฮอล์ (Alcohol-related Fatty Liver Disease) ซึ่งเกิดจากการดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณที่มากเกินไป จนทำให้ตับไม่สามารถทำงานได้ดังเดิม และเกิดการสะสมของไขมันที่ตับเพิ่มขึ้น

2. ภาวะไขมันพอกตับที่ไม่ได้เกิดจากการดื่มแอลกอฮอล์ (Non-alcoholic Fatty Liver Disease) เกิดขึ้นจากความผิดปกติของระบบเผาผลาญพลังงานในร่างกาย เช่น โรคอ้วน โรคเบาหวาน ไขมันในเลือดสูง จนทำให้เกิดไขมันส่วนเกินไปสะสมอยู่ที่ตับ เป็นต้น

อาการของไขมันพอกตับ

            ไขมันพอกตับจะไม่แสดงอาการอย่างชัดเจนให้เห็นในระยะเริ่มแรก จะเริ่มมีอาการก็ต่อเมื่อมีไขมันสะสมอยู่ในตับจำนวนมากแล้ว โดยอาการที่พบได้บ่อย เช่น เหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย ไม่มีแรง รู้สึกไม่สบายท้อง น้ำหนักตัวลดอย่างผิดปกติ ความอยากอาหารลดลง คลื่นไส้ มึนงง เป็นต้น

สาเหตุของไขมันพอกตับ

                สาเหตุที่ก่อให้เกิดภาวะไขมันพอกตับนั้น เกิดจากการที่ร่างกายสะสมไขมันไว้มากจนเกินไป หรือเกิดจากความผิดปกติเกี่ยวข้องกับระบบเผาผลาญไขมันในร่างกาย อาจเป็นผลมาจากการที่ดื่มแอลกอฮอล์ ภาวะดื้อต่ออินซูลิน เป็นต้น

ภาวะแทรกซ้อนไขมันพอกตับ

            ถ้าควบคุมภาวะไขมันพอกตับไม่ดี จะทำให้เกิดตับอักเสบได้ โดยการอักเสบจะนำไปสู่การทำให้เกิดพังผืดในตับ หากไม่ได้รับการรักษา ก็จะทำให้พังผืดขยายตัวและลุกลามจนกลายเป็นโรคตับแข็งได้     และผู้ป่วยไขมันพอกตับ ที่ติดแอลกอฮอล์ หรือมีไวรัสตับอักเสบซี มีความเสี่ยงต่อโรคตับแข็งมากกว่าคนทั่วไป

และถ้าไม่รักษาจะนำไปสู่อาการอื่น ๆ เช่น มีของเหลวจำนวนมากในช่องท้อง หรือที่เรียกว่า อาการท้องมาน มีเส้นเลือดดำในหลอดอาหารโป่งพองจนอาจทำให้เส้นเลือดแตกและมีเลือดออกได้ และมะเร็งตับ ที่มักพบในผู้ป่วยโรคตับแข็ง

การรักษาไขมันพอกตับ

            การรักษาภาวะไขมันพอกตับนั้น จะมุ่งเน้นไปที่การหันมาดูแลสุขภาพและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต การรับประทาน และเน้นการออกกำลังกาย เป็นต้น

ตัวอย่างยาและสารที่ใช้บรรเทาอาการของภาวะไขมันพอกตับ เช่น

            ยาเพิ่มความไวต่ออินซูลิน อาจพิจารณาให้ยานี้ในผู้ป่วยเบาหวานที่มีภาวะไขมันพอกตับร่วมด้วย หรือผู้ป่วยที่มีภาวะดื้อต่ออินซูลิน ซึ่งยาทั้ง 2 ชนิดนี้ อาจช่วยลดระดับเอนไซม์ตับในเลือดลงได้ ทำให้ตับทำงานได้ดีขึ้น 

            ยาลดไขมันในเลือดกลุ่มสแตติน (Statin) เป็นยาที่แพทย์อาจใช้ในผู้ป่วยที่ตรวจพบไขมันในเลือดสูงร่วมกับภาวะไขมันพอกตับ

          วิตามินอี เป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่สำคัญต่อร่างกายคนเรา ซึ่งวิตามินอีอาจช่วยยับยั้งกระบวนการเกิดอนุมูลอิสระและการอักเสบที่มีส่วนทำให้อาการของภาวะไขมันพอกตับแย่ลงได้

การใช้สมุนไพรรักษาโรคไขมันพอกตับ

                ขมิ้นชัน  มีศึกษาพบว่าขมิ้นชันมีผลลดระดับไขมัน และภาวะดื้อต่ออินซูลินในผู้ป่วยไขมันพอกตับได้ เป็นผลให้อาการของโรคดีขึ้น ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด ช่วยให้ร่างกายดื้อต่ออินซูลินน้อยลง และช่วยทำให้ฮอร์โมนเลปติน ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับภาวะอ้วนลดลง

            เมล็ดลินิน มีการศึกษาในผู้ป่วยไขมันพอกตับที่รับประทานผงเมล็ดลินิน พบว่าระดับน้ำตาลในเลือด ความดื้อต่ออินซูลิน ดัชนีมวลกาย รอบเอว ปริมาณคอเลสเตอรอลรวม และคอเลสเตอรอล ชนิด LDL ลดลงได้

นอกจากนี้เมล็ดลินินยังทำให้การทำงานของตับดีขึ้น สามารถลดระดับเอนไซม์ ALT, AST, gamma-glutamyltransferase (GGT ) ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่บ่งบอกถึงความเสียหายของตับ รวมถึงลดการเกิดพังพืดในตับและปริมาณไขมันที่สะสมในเซลล์ตับลดลงด้วยเช่นกัน

ระบบเอ็นโดแคนนาบินอยด์เกี่ยวข้องอะไรกับโรคไขมันพอกตับ

            โรคไขมันพอกตับ ที่ไม่ใช่สาเหตุจากแอลกอฮอร์ หรือ Non-alcoholic fatty liver disease (NAFLD) พบว่ามีความสัมพันธิ์กับระบบเอ็นโดแคนนาบินอยด์ ซึ่งจากการศึกษาพบว่า

            ในระบบเอ็นโดแคนนาบินอยด์ ที่อวัยวะตับ พบตัวรับ หรือ Receptor ที่สารเอ็นโดแคนนาบินอยด์จะเข้าไปจับแล้วออกฤทธิ์นั้น มีหลายชนิด เช่น ตัวรับ CB1, ตัวรับ CB2, ตัวรับ GPR55, ตัวรับ GPR119, ตัวรับ PPAR แอลฟ่า, ตัวรับ PPAR เดลต้า, และตัวรับ PPAR แกมมา เป็นต้น

ตัวรับในระบบเอ็นโดแคนนบินอยด์ต่างๆในตับ มีส่วนทำให้เกิดโรคตับชนิดต่างๆขึ้นมาได้ รวมทั้งไขมันพอกตับ

            จากการที่มีตัวรับที่หลากหลายทำให้มีความซับซ้อนของการทำงานของระบบเอ็นแคนนาบินอยด์ที่ควบคุมบริเวณตับ รวมทั้งกลไกการเกิดโรคไขมันพอกตับชนิดนี้ด้วย เช่น

            การกระตุ้นที่ตัวรับ CB1 ทำให้ตับมีการสร้างน้ำตาลกลูโคสมากยิ่งขึ้น, ทำให้มีการสร้างไกลโคเจนมากขึ้น, ทำให้ตับสร้างไขมันมากยิ่งขึ้น, ทำให้ตับมีการดื้อต่ออินซูลินมากขึ้น รวมทั้งทำให้ไขมันสะสมที่ตับมากขึ้น เป็นต้น

            การกระตุ้นที่ตัวรับ CB2 ก็ทำให้ตับสะสมไขมันที่ตับมากยิ่งขึ้นเช่นกัน

            แต่ในขณะเดียวกัน ถ้ามีการยับยั้งการทำงานของตัวรับเหล่านี้ข้างต้น ก็จะให้ผลลัพธ์ตรงข้าม เช่น

            การยับยั้งที่ตัวรับ CB1 ทำให้ตับมีการสร้างน้ำตาลกลูโคสลดลง, ทำให้มีการสร้างไกลโคเจนลดลง, ทำให้ตับสร้างไขมันน้อยลง, ทำให้ตับมีการไวต่ออินซูลินมากขึ้น รวมทั้งทำให้ไขมันสะสมที่ตับน้อยลง เป็นต้น

            ฉะนั้น เบื้องต้นจะเห็นว่า การกระตุ้นของระบบเอ็นโดแคนนาบินอยด์ผ่านตัวรับ CB1 และ CB2 จะให้ผลไปในทางที่ทำให้เกิดมีไขมันพอกตับขึ้นมาได้ หรือ ไม่เป็นผลดีต่อตับ นั่นเอง

การออกฤทธิ์ของสารไฟโตแคนนาบินอยด์จากกัญชาหรือกัญชงผ่านระบบเอ็นโดแคนนาบินอยด์ที่ตับ จึงมีโอกาสที่จะสามารถนำมาใช้แก้ไขความผิดปกติที่ตับได้ รวมทั้งภาวะไขมันพอกตับ

ทำไมต้องใช้กัญชา

          สารไฟโตแคนนาบินอยด์จากกัญชา ถึงแม้จะมีสาร THC และ สาร CBD ที่มีการศึกษาวิจัยอย่างกว้างขวางถึงคุณสมบัติทางการแพทย์

แต่ปัจจุบันการศึกษาวิจัยก็ค้นพบประโยชน์ของสารไฟโตแคนนาบินอยด์ชนิดอื่นๆด้วย เช่น สาร THCA สาร CBG สาร CBN และ สาร CBC เป็นต้น

          ซึ่งสารเหล่านี้ก็ล้วนมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของตับ เมื่อจับกับตัวรับชนิดต่างๆที่อยู่ในตับ ซึ่งอาจมีผลทำให้มีการนำมาสารไฟโตแคนนาบินอยด์บางชนิดมาใช้ในการรักษาภาวะพอกตับได้ในอนาคต

            เพราะว่าสารไฟโตแคนนาบินอยด์บางชนิด เช่น สาร CBD หรือ สาร THCA สามารถออกฤทธิ์แบบยับยั้งกับตัวรับ CB1 กับ CB2 ได้ นั่นเอง

กัญชาเกี่ยวข้องกับโรคไขมันพอกตับอย่างไร

          การกระตุ้นที่ตัวรับ CB1 และ CB2 สามารถนำไปสู่การทำให้ไขมันมีการพอกตับเพิ่มมากยิ่งขึ้น แต่ตัวรับที่ตับไม่ได้มีแค่ตัวรับดังกล่าว ยังมีตัวรับ GPR55 ,ตัวรับ GPR119 และตัวรับในตระกูล PPARs ชนิดต่างๆ

            ซึ่งจากการศึกษา พบว่า การกระตุ้นตัวรับเหล่านี้ สามารถให้ผลในทิศทางตรงกันข้ามกับการออกฤทธิ์แบบกระตุ้นตัวรับ CB1 และ CB2 ที่ทำให้โอกาสไขมันพอกตับมากยิ่งขึ้นได้ หรือเข้าใจง่ายๆว่า การออกฤทธิ์กระตุ้นตัวรับ GPR55 , GPR119 และตัวรับ PPARs อาจให้ผลไปในทิศทางลดการสะสมของไขมันที่ตับได้

            นอกจากนี้ยังพบว่า สาร CBD สามารถออกฤทธิ์ยับยั้งที่ตัวรับ CB1 และ CB2 ได้ ซึ่งก็อาจนำไปสู่การลดไขมันพอกตับได้ด้วยเช่นกัน

การออกฤทธิ์ผ่านตัวรับ CB1 หรือ CB2 ยังมีประโยชน์ในกรณีที่ป่วยด้วยโรคตับอื่นๆด้วย เช่น โรคตับแข็ง เป็นต้น

แนวทางการใช้กัญชา ร่วมกับสมุนไพรอื่น ในการรักษาโรคไขมันพอกตับ

            กัญชา กับ สมุนไพร รวมทั้งยาเคมี สามารถเกิดปฏิกิริยาต่อกันได้ หรือ สามารถตีกันได้ ซึ่งผลของการตีกัน อาจนำไปสู่การเกิดผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายต่อร่างกายได้ ดังนั้น การใช้กัญชา ร่วมกับ สมุนไพรอื่น ควรต้องพิจารณาเรื่องนี้ด้วย

เข้าใจการใช้กัญชาทางการแพทย์มากยิ่งขึ้น ด้วยการสั่งหนังสือเล่มนี้ครับ

เอกสารอ้างอิง

Turmeric supplementation improves serum glucose indices and leptin levels in patients with nonalcoholic fatty liver diseases. J Am Coll Nutr. 2017;36(4):261-7.

Treatment of non-alcoholic fatty liver disease with curcumin: a randomized placebo-controlled trial. Phytother Res. 2016;30(9):1540-8.

Flaxseed supplementation in non-alcoholic fatty liver disease: a pilot randomized, open labeled, controlled study. Int J Food Sci Nutr. 2016;67(4):461-9.

Endocannabinoid System in Hepatic Glucose Metabolism, Fatty Liver Disease, and Cirrhosis. Int. J. Mol. Sci. 2019, 20, 2516

Mechanistic Potential and Therapeutic Implications of Cannabinoids in Nonalcoholic Fatty Liver Disease. Medicines (Basel). 2018 Jun; 5(2): 47.

Endocannabinoid receptor CB2 in nonalcoholic fatty liver disease . Liver international: official journal of the International Association for the Study of the Liver 27(2):215-9 · March 2007

Potential Mechanisms Influencing the Inverse Relationship Between Cannabis and Nonalcoholic Fatty Liver Disease: A Commentary. Nutrition and Metabolic Insights Volume 12. 2019: 1–3

Endocannabinoids and Their Role in Fatty Liver Disease. Dig Dis 2010;28:261–266

More Science Less Marketing

ภก.พงษ์ศักดิ์ สง่าศรี