กัญชา จะรักษาโรคเบาหวานได้อย่างไร


โรคเบาหวานคืออะไร

            โรคเบาหวาน คือ โรคที่เกิดจากความผิดปกติของการทำงานของฮอร์โมนที่เรียกชื่อว่า อินซูลิน (Insulin) ซึ่งโดยปกติแล้วร่างกายของคนเราต้องมีอินซูลินไว้ใช้งาน เพื่อจะได้นำน้ำตาลในเลือดไปเลี้ยงอวัยวะส่วนต่างๆของร่างกาย

            ในภาวะที่อินซูลินมีการทำงานที่ผิดปกติไป เช่น มีการลดลงของปริมาณอินซูลินในร่างกาย หรืออวัยวะต่างๆของร่างกายมีการตอบสนองต่ออินซูลินลดลง กรณีนี้มักเรียกว่า มีภาวะดื้ออินซูลินเกิดขึ้น ก็จะทำให้ร่างกายไม่สามารถนำน้ำตาลที่อยู่ในเลือดไปใช้ได้

            ทำให้มีปริมาณน้ำตาลค้างอยู่ในเลือดมากกว่าปกติ ซึ่งถ้าหากน้ำตาลในเลือดสูงมากขึ้นจนถึงระดับหนึ่ง อาจทำให้ไตไม่สามารถจัดการน้ำตาลได้หมด จึงส่งผลให้มีน้ำตาลรั่วออกมากับปัสสาวะ หากมีการปล่อยให้เกิดภาวะน้ำตาลรั่วออกมากับปัสสาวะไปนานๆ โดยไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม ก็จะทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่ร้ายแรงตามมาในที่สุด

ชนิดของโรคเบาหวาน

          1. เบาหวานชนิดที่ 1 เซลล์สร้างอินซูลินในตับอ่อนถูกทำลาย ทำให้เกิดภาวะขาดอินซูลิน หรือเข้าใจง่ายๆ คือ ร่างกายสร้างอินซูลินไม่ได้เลย ต้องได้รับเข้าไปเท่านั้น

          2. เบาหวานชนิดที่ 2 เกิดจากภาวะการลดลงของการสร้างอินซูลิน ร่วมกับภาวะดื้ออินซูลิน และมักเป็นกรรมพันธุ์มักมีกรรมพันธุ์เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย หรือเข้าใจง่ายๆ คือ เบาหวานชนิดนี้ ร่างกายพอสร้างอินซูลินได้บ้าง แต่ไม่พอ นั่นเอง

3. เบาหวานชนิดพิเศษ เช่น เป็นโรคของตับอ่อน หรือเป็นโรคที่เกี่ยวกับการทำงานที่ผิดปกติของอินซูลินโดยกำเนิด

          4. เบาหวานขณะมีการตั้งครรภ์ มักจะเกิดขึ้นขณะตั้งครรภ์ และจะหายไปได้หลังคลอดบุตรแล้ว แต่ปัจจุบันพบว่า ถึงแม้จะหาย แต่ก็มีโอกาสเสี่ยงที่จะเกิดโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ได้ในอนาคต

ภาวะแทรกซ้อนของโรคเบาหวาน

            ถ้ามีการปล่อยให้น้ำตาลในเลือดสูงผิดปกติเป็นระยะเวลานาน น้ำตาลที่สูงขึ้นนั้นจะส่งผลโดยตรงต่อหลอดเลือดเล็กและหลอดเลือดใหญ่ และจะทำให้เกิดภาวะอักเสบตามมา จนนำไปสู่ภาวะหลอดเลือดอุดตันได้ง่ายกว่าคนทั่วไป นอกจากนี้ยังส่งผลต่อระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายด้วย โดยทำให้ภูมิคุ้มกันอ่อนแอ เช่น เซลล์เม็ดเลือดขาวมีประสิทธิภาพในการต่อสู้กับเชื้อโรคได้ลดลง ส่งผลให้เกิดการติดเชื้อได้ง่ายขึ้น

ภาวะแทรกซ้อนที่สามารถพบได้ในผู้ป่วยโรคเบาหวาน

            ภาวะแทรกซ้อนทางตา หรือมักเรียกกันว่า เบาหวานขึ้นตา น้ำตาลในเลือดที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจะทำให้เกิดจอประสาทตาเสื่อม หากทิ้งไว้โดยไม่ได้รับการรักษา อาจทำให้เกิดตาบอดได้ในที่สุด นอกจากนี้ผู้ป่วยโรคเบาหวานยังเสี่ยงต่อการเกิดโรคต้อกระจก และโรคต้อหินได้มากกว่าคนปกติด้วยเช่นกัน

            ภาวะแทรกซ้อนทางไต หรือ เบาหวานลงไต โดยไตจะทำงานหนักขึ้น เนื่องจากน้ำตาลในเลือดที่สูง ส่งผลให้มีแรงดันเลือดไปที่ไตสูงตามไปด้วย เกิดโปรตีนรั่วที่ไตเกิดขึ้น หากไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสมและทันท่วงที อาจทำให้เกิดไตวายเรื้อรังได้ จนต้องฟอกไตในที่สุด

เบื้องหลังโรคแทรกซ้อนมีระบบเอ็นโดแคนนาบินอยด์เข้ามาเกี่ยวข้อง

            ภาวะแทรกซ้อนทางเส้นประสาท โดยผู้ป่วยมักจะมีอาการชาตามปลายมือปลายเท้า ซึ่งบางคนอาจมีอาการเจ็บแปลบๆเหมือนโดนเข็มแหลมๆทิ่ม อาจมีอาการแสบร้อนบริเวณปลายมือเท้า เป็นต้น


            เส้นเลือดแดงใหญ่อุดตัน มักเกิดขึ้นบริเวณขา จะมีอาการปวดขามากขึ้น เมื่อเดินหรือวิ่ง และมักจะดีขึ้นเมื่อพักหรือห้อยขาลงที่ต่ำ ปลายเท้ามักจะเย็น หากปล่อยทิ้งไว้ไม่รักษา อาจจะทำให้เกิดภาวะเส้นเลือดอุดตันจนปลายเท้าขาดเลือด มีการติดเชื้อ และต้องตัดนิ้วเท้า หรือขาทิ้งในที่สุด หรือ มักเรียกว่า เบาหวานลงขา

เส้นเลือดหัวใจตีบ จะพบได้บ่อย เป็นภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง เส้นเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจตีบ ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด และหากตีบรุนแรงอาจทำให้กล้ามเนื้อหัวใจตายได้ นำไปสู่การเสียชีวิตเฉียบพลันได้

การทำงานผ่านตัวรับ CB1 ที่มากเกินไปทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนที่ระบบหัวใจ

            เส้นเลือดในสมองตีบ ทำให้การทำงานของสมองและเส้นประสาทบริเวณที่เส้นเลือดตีบขาดเลือด ส่งผลให้เกิดอัมพฤกษ์ อัมพาต ปากเบี้ยว พูดไม่ชัด หรือมีอาการชาครึ่งซีก หรืออาจเสียชีวิตได้

การรักษาปัจจุบัน

            การรักษาโรคเบาหวาน เป็นการรักษาที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่าย ซึ่งทั้งจากแพทย์ พยาบาล โภชนากร และ ที่สำคัญที่สุดก็คือตัวผู้ป่วยเอง และการควบคุมอาหารก็มีความสำคัญมากในการลดระดับน้ำตาลในเลือด และถือว่าเป็นการรักษาหลักที่ผู้ป่วยเบาหวานทุกรายต้องเข้าใจและปฏิบัติให้ได้

            ส่วนการใช้ยานั้น แพทย์จะพิจารณาจากชนิดของโรคเบาหวาน เช่น โรคเบาหวานชนิดที่ 1 จะได้รับอินซูลินเพื่อไปฉีดเท่านั้น ส่วนในโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ก็จะเป็นการเลือกใช้ยาชนิดต่างๆก่อนเป็นหลัก

ซึ่งในบทความนี้จะเน้นข้อมูลสำหรับโรคเบาหวานชนิดที่ 2 เท่านั้น ที่เกี่ยวข้องกับการใช้สมุนไพรชนิดต่างๆ รวมทั้งกัญชง กัญชา

ตัวอย่างสมุนไพรที่มีสรรพคุณรักษาโรคเบาหวาน

ผักเชียงดา

                ผักเชียงดาเป็นผักที่ใช้เป็นยารักษาโรคเบาหวานมาตั้งแต่ในอดีต ทั้งในประเทศไทย อินเดียและประเทศแถบเอเชียมานานกว่า ๒ พันปีแล้ว

            มีการศึกษาวิจัยค้นพบว่า ผักเชียงดามีสรรพคุณลดระดับน้ำตาลในเลือดได้ ซึ่งมีการยืนยันสรรพคุณการลดน้ำตาลในเลือดและช่วยเพิ่มปริมาณอินซูลินทั้งในสัตว์ทดลองและในคน จากการศึกษายังพบว่าผักเชียงดาสามารถฟื้นฟูเซลล์ของตับอ่อนได้ ซึ่งตับอ่อนก็คืออวัยวะที่ผลิตอินซูลินให้กับร่างกาย

            และยังมีการศึกษาพบว่าสารสกัดจากผักเชียงดาสามารถลดปริมาณการใช้อินซูลินได้ในผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ต้องพึ่งอินซูลินได้อีกด้วย นอกจากนี้ผักเชียงดายังสามารถยับยั้งการดูดซึมของน้ำตาลจากลำไส้เล็กเข้าสู่ร่างกายได้

มะระขี้นก

            งานวิจัยสรุปได้ว่า มะระมีกลไกการออกฤทธิ์ลดระดับน้ำตาลในเลือดได้มากกว่าหนึ่งกลไก  สามารถออกฤทธิ์คล้ายกับอินซูลินได้ ออกฤทธิ์กระตุ้นการหลั่งอินซูลินจากตับอ่อนได้ ออกฤทธิ์ยับยั้งการสังเคราะห์กลูโคสในตับได้ และเพิ่มการใช้กลูโคสในตับได้ เป็นต้น

          สรรพคุณลดระดับน้ำตาลในเลือด มีรายงานการศึกษาในหลายประเทศ เช่น ประเทศญี่ปุ่น สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และอินเดีย ซึ่งพบฤทธิ์ลดระดับน้ำตาลทั้งในเลือดของสัตว์ทดลอง และในผู้ป่วยโรคเบาหวาน นอกจากนี้ยังสามารถชะลอการเกิดโรคต้อกระจก ซึ่งเป็นภาวะแทรกซ้อนของโรคเบาหวานได้

ระบบเอ็นโดแคนนาบินอยด์เกี่ยวข้องอะไรกับโรคเบาหวาน


            การกระตุ้นระบบเอ็นโดแคนนาบินอยด์ที่มากเกินไป หรือ การทำงานของระบบเอ็นโดแคนนาบินอยด์ที่มากเกินไป โดยเฉพาะการกระตุ้นตัวรับ CB1 มีผลทำให้เกิดความผิดปกติในระบบการเผาผลาญพลังงาน ซึ่งอาจนำไปสู่โรคเบาหวาน ชนิดที่ 2 เพราะพบความสัมพันธ์ว่า

            การกระตุ้นที่ตัวรับ CB1 ในระบบเอ็นโดแคนนาบินอยด์ มีผลทำให้มีการดื้อของอินซูลินเกิดขึ้น และยังมีผลทำให้เซลล์ตับอ่อน ที่ทำการผลิตอินซูลินให้กับร่างกายมีประสิทธิภาพที่ด้อยลงด้วย ทำให้ผลิตอินซูลินได้น้อยลง

การทำงานผ่านตัวรับ CB1 ที่มากเกินไปทำให้เกิดโรคเบาหวานขึ้น

          ซึ่งตัวรับ CB1 นั้นถึงแม้จะมีอยู่อย่างหนาแน่นในระบบประสาทส่วนกลาง แต่ในระบบประสาทส่วนปลายก็ยังมีด้วยเช่นกัน

            หรือเข้าใจง่ายๆ ก็คือว่า ตัวรับ CB1 ไม่ได้มีแค่ในสมองของคนเรา แต่ยังมีอยู่ทั่วทุกอวัยวะในร่างกายด้วยเช่นกัน

            ซึ่งจากการศึกษาวิจัยมีการค้นพบ บทบาทของตัวรับ CB1 ที่เกี่ยวข้องกับการเกิดโรคเบาหวาน ชนิดที่ 2 ดังนี้

            ตัวรับ CB1 ในระบบประสาทส่วนกลาง มีผลดังนี้  ทำให้อยากอาหารมากยิ่งขึ้น กินอาหารได้มากขึ้น น้ำหนักขึ้น ร่างกายอ้วน

            ตัวรับ CB1 ในระบบประสาทส่วนปลาย หรือ อวัยวะที่เกี่ยวข้องกับการเกิดโรคเบาหวานชนิดนี้ มีผลดังนี้

            ตับ การกระตุ้นที่ตัวรับ CB1 มีผลทำให้ตับสร้างไขมันเพิ่มมากขึ้น มีการผลิตน้ำตาลกลูโคสมากยิ่งขึ้น ทำให้มีการอักเสบมากขึ้น ทำให้การส่งสัญญานของอินซูลินในตับลดลง

            เนื้อเยื่อไขมัน การกระตุ้นที่ตัวรับ CB1 มีผลทำให้เนื้อเยื่อไขมันที่สะสมตามส่วนต่างๆของร่างกาย โดยเฉพาะบริเวณหน้าท้อง ทำให้ร่างกายมีการอักเสบมากยิ่งขึ้น มีการสร้างไขมันเพิ่มากยิ่งขึ้น

          กล้ามเนื้อ การกระตุ้นที่ตัวรับ CB1 มีผลทำให้การส่งสัญญานของอินซูลินในกล้ามเนื้อลดลง

            ตับอ่อน การกระตุ้นที่ตัวรับ CB1 ที่บริเวณตับอ่อน จะทำให้ตับอ่อนสร้างอินซูลินลดลง

            จากข้อมูลข้างต้น ก็จะทำให้มองเห็นภาพว่า การกระตุ้นตัวรับ CB1 ที่มากเกินไป จะมีผลทั้งในระบบประสาทส่วนกลาง และ ระบบประสาทส่วนปลาย

             ซึ่งนำไปสู่ความผิดปกติหรือความเสียหายให้เกิดขึ้นกับอวัยวะต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการเกิดโรคเบาหวาน ชนิดที่ 2 และ ก็อาจจะนำไปสู่การเกิดโรคเบาหวาน ชนิดที่ 2 ได้ในที่สุด

            ดังนั้น บทบาทของระบบเอ็นโดแคนนาบินอยด์ที่เกี่ยวข้องกับโรคเบาหวาน ชนิดที่  2 จึงมีความเชื่อมโยงกับ ตัวรับ CB1 อย่างมาก

ทำไมต้องใช้กัญชาในการดูแลโรคเบาหวาน

            มีรายงานการใช้กัญชา เพื่อประโยชน์ในผู้ป่วยโรคเบาหวานมาตั้งแต่ในอดีต และในปัจจุบันก็พบว่า มีการนำกัญชามาใช้ในทางการแพทย์มากยิ่งขึ้น

ซึ่งผลจากการใช้ก็พบว่า มีระดับน้ำตาลในเลือดลดลง จนบางคนนำไปใช้เพื่อหวังผลการลดระดับน้ำตาลในเลือด มากกว่า จะใช้เพื่อจุดประสงค์การแพทย์อย่างอื่น เป็นต้น

          ซึ่งกัญชา กับ ระบบเอ็นโดแคนนาบินอยด์ในร่างกาย จัดว่ามีความเกี่ยวข้องกันอย่างใกล้ชิด เพราะว่า สารไฟโตแคนนาบินอยด์จากกัญชานั้น สามารถจับกับตัวรับชนิดต่างๆที่อยู่ในระบบเอ็นโดแคนนาบินอยด์ได้ด้วยเช่นกัน

            ฉะนั้น กัญชา ที่อุดมไปด้วยสารไฟโตแคนนาบินอยด์มากกว่า 10 ชนิดนี้ ก็ย่อมส่งผลต่อโรคเบาหวาน ชนิดที่ 2 ได้ด้วยแน่นอน

การกระตุ้นของตัวรับ CB2 สามารถลดความเสี่ยงโรคแทรกซ้อนจากโรคเบาหวานได้

            และปัจจุบันก็มีการค้นพบบทบาทของระบบเอ็นโดแคนนาบินอยด์ต่อการเกิดโรคเบาหวาน ชนิดที่ 2 มากยิ่งขึ้น และมีการยอมรับว่า ระบบเอ็นโดแคนนาบินอยด์เข้ามาเกี่ยวข้องกับโรคนี้อย่างมาก

การประยุกต์ใช้สารไฟโตแคนนาบินอยด์จากกัญชาเพื่อจะให้ประโยชน์ในผู้ป่วยโรคเบาหวาน ชนิดที่ 2 จึงได้รับความสนใจของนักวิจัยเป็นอย่างมาก

            เพราะว่า สารไฟโตแคนนาบินอยด์ สามารถออกฤทธิ์โดยตรงต่อระบบเอ็นโดแคนนาบินอยด์ ซึ่งเกี่ยวข้องกับโรคเบาหวาน ชนิดที่ 2 โดยตรงด้วยเช่นกัน

กัญชาเกี่ยวข้องกับโรคเบาหวานอย่างไร

            สารไฟโตแคนนาบินอยด์ มีรายงานว่า สามารถลดระดับน้ำตาลในเลือดได้ มีประโยชน์ในผู้ป่วยโรคเบาหวาน ชนิดที่ 2 ส่วนโรคเบาหวาน ชนิดที่ 1 ยังมีข้อมูลในทางได้ประโยชน์ไม่มาก จึงยังไม่แนะนำให้ใช้

ซึ่งการออกฤทธิ์ของสารไฟโตแคนนาบินอยด์ โดยเฉพาะสาร CBD และ สาร THCV สามารถกระตุ้นการหลั่งอินซูลินจากเซลล์ตับอ่อนได้ โดยผ่านการส่งสัญญานจากการจับกับตัวรับ CB1 หรือ CB2

          นอกจากนี้สารไฟโตแคนนาบินอยด์จากกัญชา ยังทำให้เซลล์ของกล้ามเนื้อมีความไวต่ออินซูลินมากยิ่งขึ้น ลดการดื้อต่ออินซูลินลงได้ ทำให้ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดได้ และยังมีรายงานว่า สาร CBD สามารถออกฤทธิ์ได้คล้ายกับยาลดระดับน้ำตาลในเลือดในกลุ่ม Thiazolidinediones เช่นยา Pioglitazone เพราะออกฤทธิ์ผ่านการจับกับตัวรับในกลุ่มเดียวกัน เป็นต้น

กัญชา กัญชง ลดน้ำตาลในเลือดได้

แนวทางการใช้กัญชา ร่วมกับสมุนไพรอื่น ในการรักษาโรคเบาหวาน

          การใช้กัญชา เพื่อโอกาสในการลดระดับน้ำตาลในเลือดลง มีข้อควรพิจารณา เมื่อต้องใช้ร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ หรือแม้แต่ยาเคมีที่ใช้อยู่แล้ว ดังนี้

          การใช้ยาร่วมกันหลายชนิด ไม่ว่ายานั้นจะมาจากยาเคมีสังเคราะห์ ยาสมุนไพร หรือแม้แต่สารสกัดจากธรรมชาติ ล้วนมีปฏิกิริยาซึ่งกันและกันได้ หรือที่เข้าใจง่ายๆ คือ ยาตีกัน

            เพราะว่า สารไฟโตแคนนาบินอยด์ โดยสารหลักที่มีการศึกษา เช่น สาร THC และ สาร CBD ล้วนมีคุณสมบัติพื้นฐานที่มีรายงานว่า สามารถลดหรือเพิ่มระดับยาอื่นที่มีการใช้ร่วมกันได้

            ส่วนยาเคมีอื่นๆ หรือ แม้แต่สารออกฤทธิ์สำคัญที่อยุ่ในสมุนไพร สารสกัดธรรมชาติ ก็สามารถที่จะเพิ่มหรือลดฤทธิ์ของสารไฟโตแคนนาบินอยด์จากกัญชาได้เช่นกัน

            ผลของการตีกันของยา ก็อาจจะทำให้เกิดระดับน้ำตาลที่ต่ำเกินไป จนทำให้ผู้ป่วยหน้ามืด หรือ หมดสติได้ หรือแม้แต่ทำให้เกิดอาการข้างเคียงอื่นที่เป็นผลจากยาเหล่านั้นมีระดับยาในเลือดที่สูงขึ้นก็ได้เช่นกัน

โรคเบาหวานชนิดที่ 2 เกี่ยวข้องกับระบบเอ็นโดแคนนาบินอยด์ชนิดแยกจากกันไม่ออก

ดังนั้น สารไฟโตแคนนาบินอยด์ จากกัญชา หรือ กัญชง จึงเข้ามาเกี่ยวข้องกับโรคเบาหวานอย่างชนิดจะแยกไม่ออกเช่นกัน

ซึ่งจากผลการศึกษาวิจัย ก็พบทิศทางที่จะสามารถนำสารไฟโตแคนนาบินอยด์มาใช้ในการรักษาโรคเบาหวานชนิดที่ 2 นี้ได้เช่นกัน

อัพเดต และเรียนรู้กัญชา กัญชงทางการแพทย์ ด้วยหนังสือเล่มนี้ สั่งได้เลยครับ

เอกสารอ้างอิง

Effect of Gymnema inodorum on Postprandial Peak Plasma Glucose Level in Healthy Human. Afr.J.Biotechnol.2010 : 9(7),1079-1085

Structure-activity Relationships of  Triperpenoid Derivatives Extracted from Gymnema inodorum Leaves on Glucose Absorption. Jpn.J.Pharmacol. 2001 : 86 (March). 223-229.

Effect of Momordica charantia (Karolla) extracts on fasting and postprandial serum glucose levels in NIDDM patients. Bangladesh Medical Research Council Bulletin, 1999 : 25(1), 11-13.

Bitter melon (Momordica charantia): a review of efficacy and safety. American Journal of Health-System Pharmacy, 2003 : 60(4), 356-359.

Role of Cannabinoid Receptor Type 1 in Insulin Resistance and Its Biological Implications. Int. J. Mol. Sci. 2019, 20, 2109

Endocannabinoids and the control of energy balance. Trends Endocrinol. Metab. 2007, 18, 27–37.

Understanding metabolic homeostasis and imbalance: What is the role of the endocannabinoid system? Am. J. Med. 2007, 120, S18–S24.

Cannabinoid type 1 receptors in human skeletal muscle cells participate in the negative crosstalk between fat and muscle. Diabetologia 2009, 52, 664–674.

The cb1 endocannabinoid system modulates adipocyte insulin sensitivity. Obesity 2008, 16, 1727–1734.

More Science Less Marketing

ภก.พงษ์ศักดิ์ สง่าศรี