น้ำมันปลาปลอดภัยจริงไหม?


น้ำมันปลาปลอดภัยจริงไหม?
 
น้ำมันปลา หรือ Fish oil เป็นอาหารเสริมที่ผู้เขียนคิดว่า หลายๆคนคงคุ้นเคยดี เพราะว่า เราจะได้รับข้อมูลอยู่เรื่อยๆว่า ทานน้ำมันปลา จะช่วยบำรุงสมอง เพราะมีสาร ดีเอชเอ ที่ช่วยให้สมองดี ความจำแม่น อยู่ภายในน้ำมันปลา
 
ฉะนั้น อาหารเสริมในกลุ่มนี้ จึงเป็นที่นิยม สำหรับเด็กๆ หรือ วัยที่กำลังศึกษาอยู่ ซื้อมารับประทานกัน
 
น้ำมันปลาเป็นสารอาหารประเภทไขมัน ซึ่งประกอบด้วยกรดไขมันในกลุ่ม Omega-3 ซึ่งมีกรดไขมันหลัก ๆ คือ

 
Linolenic acid
 
Eicosapentaenoic acid (EPA) และ
 
Docosahexaenoic acid (DHA)
 
น้ำมันปลา สกัดได้จากส่วนของเนื้อปลา หัวปลา หนัง และ หางปลา ปลาที่นำมาสกัดน้ำมันปลาเป็นปลาทะเลธรรมชาติจากแหล่งน้ำลึกและน้ำเย็น เป็นปลาที่มีไขมันสูง เช่น ปลาคอด ปลาแซลมอน ปลาแอนโชวี ปลาเฮริ่ง ปลาแมคเคอเรล ปลาทูน่า และปลาซาร์ดีน เป็นต้น
 
มีประสิทธิภาพในการลดระดับ triglycerides และ เพิ่มระดับของ HDL ซึ่งเป็นไขมันที่ดีได้ ซึ่งช่วยลดความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือด
 
โดยไปยับยั้งการ triglyceride จากตับและยังไปช่วยกระตุ้นเอนไซม์ lipoprotein lipase ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่ช่วยเพิ่มอัตราการกำจัด triglycerides ออกจากระดับเลือด
 
อาจช่วยป้องกันโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) โดย EPA จะเป็นสารตั้งต้นในการ สร้าง eicosanoids โดยเฉพาะอย่างยิ่ง series-3 prostaglandins ซึ่งสารหลาย ๆ ตัวในกลุ่มดังกล่าวจะช่วยลดการจับตัวกันของเกล็ดเลือด ทำให้เกิดลิ่มเลือดได้ช้าลง
 
DHA อาจจะ ช่วยสร้างเสริมสร้างระบบเซลล์สมองและระบบประสาทเพื่อเพิ่มความสามารถในการสื่อสารของเด็กทารกจนถึงอายุประมาณ 5 ปี และมีส่วนช่วยให้มีความจำได้ดีในช่วงระยะเวลาสั้นๆ
 
ทั้งนี้เนื่องมาจากกรดไขมัน Omega-3 มีอยู่เป็นปริมาณสูงในสมองและมีส่วนสำคัญเกี่ยวกับการทำงานของระบบความคิด ความจำและพฤติกรรม
 
ดังนั้นในเด็กทารกที่ไม่ได้รับกรดไขมัน Omega-3 อย่างเพียงพอขณะอยู่ในครรภ์มารดาจะมีความเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาในการพัฒนาของระบบการมองเห็นและระบบประสาท และเมื่อโตขึ้นหากขาดกรดไขมัน Omega-3 ก็อาจจะมีอาการของการเหนื่อยล้า ความจำไม่ดี ผิวแห้ง อารมณ์แปรปรวน ซึมเศร้า ระบบไหลเวียนไม่ดี มีปัญหาเกี่ยวกับระบบหัวใจได้
 
เมื่อใช้ร่วมกับ Evening primrose oil อาจช่วยในการพัฒนาทักษะการอ่าน การสะกดคำ และลักษณะนิสัยพฤติกรรมในเด็กอายุ 5-12 ปีที่มีปัญหาเกี่ยวกับความผิดปกติในทักษะดังกล่าว
 
อาจจะช่วยแก้โรคความจำเสื่อมชนิด Alzeimer’s disease ได้ โดยมีงานวิจัยว่า คนที่ได้รับน้ำมันปลาเป็นประจำ จะมีปริมาตรของเนื้อสมองส่วน hippocampus มากขึ้น ซึ่งเป็นสมองที่มีส่วนสำคัญเกี่ยวกับกับความจำ โดยปริมาตรของเนื้อสมองที่เพิ่มขึ้นนี้เทียบเท่าได้กับการชะลอความเสื่อมของสมองเป็นระยะเวลาถึง 1-2 ปี
 
อาจช่วยรักษาโรคสมาธิสั้น Attention deficit-hyperactivity disorder (ADHD) ในเด็ก โดยการเพิ่มทักษะการคิดและลักษณะนิสัยในเด็กที่เป็นโรคอายุ 8 ถึง 12 ปี
 
อาจช่วยลดการอักเสบ จากการที่ EPA จะเป็นสารตั้งต้นในการ สร้าง leucotriene (LTB-5) จึงใช้บรรเทาอาการข้ออักเสบ
 
ขนาดที่ใช้
 
1. สำหรับการพัฒนาทักษะการเรียนรู้ต่างๆของเด็ก EPA 558 มิลลิกรัม และ DHA 522 มิลลิกรัม ต่อวัน
 
2. สำหรับลดความไตรกลีเซอไรด์และคลอเรสเตอรอล EPA 1800-2160 มิลลิกรัม และ DHA 1200-1440 มิลลิกรัม ต่อวัน
 
3. สำหรับการลดน้ำหนัก EPA 660 มิลลิกรัม และ DHA 600 มิลลิกรัม ต่อวัน
 
ข้อมูลความปลอดภัย
 
1. การได้รับน้ำมันปลาที่มี omega-3 มากเกินกว่า 3 กรัมต่อวัน อาจเกิดการเกิดเลือดออก เนื่องจากน้ำมันปลาสามารถลดการเกาะตัวของเกล็ดเลือด หากมีบาดแผลขึ้น เลือดที่ใสจนเกินไปก็จะทำให้แผลหายได้ยากขึ้น เลือดออกได้นานมากกว่าปกติ นอกจากนี้อาจทำให้เกิดเลือดกำเดาได้ง่ายหรือมีเลือดออกปนออกมากับปัสสาวะได้
 
2. การได้รับน้ำมันปลาที่มี omega-3 ใสขนาดสูง อาจส่งผลต่อการทำงานของระบบ ภูมิคุ้มกัน ทำให้ร่างกายต้านทานต่อการติดเชื้อได้ลดลง ดังนั้นจึงควรใช้อย่างระมัดระวังในคนที่มีปัญหาเรื่องภูมิคุ้มกัน หรือเพิ่งปลูกถ่ายอวัยวะ รวมถึงคนสูงอายุด้วย
 
3. การได้รับสารพิษที่ตกค้างในปลา ในปัจจุบันในบางน่านน้ำทะเลจะมีสารพิษตกค้างอยู่ในปริมาณสูง ในปลาบางชนิดที่จับได้ในแหล่งเหล่านี้ จึงอาจมีการปนเปื้อนของสารพิษต่างๆ เช่น Dioxin, Methyl mercury และ polychlorinated biphenyl
 
4. อาจเกิดอันตรกิริยากับยาลดความดันโลหิตจนเกิดภาวะความดันโลหิตต่ำ เนื่องจาก fish oil เองก็มีฤทธิ์ในการลดความดันโลหิต
 
5. อาจเกิดอันตรกิริยากับสมุนไพรหรืออาหารเสริมตัวอื่นๆที่มีฤทธิ์เกี่ยวกับการต้านการแข็งตัวของเลือด ได้แก่ โกฐ, กานพลู, ตังกุย, กระเทียม, โสม, ขิง, ขมิ้น, หลิว เป็นต้น
 
More Science Less Marketing
 
ภก.พงษ์ศักดิ์ สง่าศรี