โรคข้อเสื่อมคืออะไร
โรคข้อเสื่อม หรือ Osteoarthritis เป็นโรคข้อเรื้อรังชนิดหนึ่ง ซึ่งเกิดจากความเสื่อมของร่างกายนำไปสู่ความไม่สมดุลในกระบวนการสร้าง กระบวนการทำลายและการซ่อมแซมภายในข้อต่อ มีการทำลายกระดูกอ่อนบริเวณผิวข้ออย่างช้าๆ
จนมีผลทำให้ผิวกระดูกอ่อนสึกกร่อน ทำให้ใช้งานข้อต่อไม่คล่อง มีเสียงดังในข้อ มีอาการปวดหรือเสียวในข้อ โดยเฉพาะเวลาเคลื่อนไหวหรือใช้งานข้อมากกว่าปกติ
สาเหตุของโรค โรคข้อเสื่อมเกิดขึ้นได้หลายปัจจัย ดังนี้
1. ปัจจัยทั่วไป เช่น พันธุกรรม เพศ อายุที่มากขึ้น น้ำหนักตัว
เพศ ผู้หญิงมีโอกาสเกิดโรคข้อเสื่อมได้มากกว่าผู้ชายถึง 2 เท่า โดยเฉพาะผู้หญิงที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไปแล้ว หรือช่วงที่วัยหมดประจำเดือน เนื่องจากขาดฮอร์โมนเพศเอสโตรเจน (estrogen)
อายุ มากกว่า 80 % ของผู้ที่มีอายุมากกว่า 75 ปีขึ้นไป จะเป็นโรคข้อเสื่อม ซึ่งมีการศึกษาพบว่าอายุที่มากขึ้น กระบวนการสร้างและการซ่อมแซมเซลล์กระดูกอ่อนจะลดลง
ความอ้วน ผู้ที่มีค่าดัชนีมวลกาย (body mass index, BMI) สูงกว่าปกติ จะมีโอกาสเสี่ยงต่อโรคข้อเข่าเสื่อมเพิ่มขึ้น เนื่องจากข้อเข่าจะรองรับน้ำหนักของร่างกายเพิ่มขึ้น และแรงที่กดลงบนผิวข้อก็จะเพิ่มขึ้น ทำให้ข้อสึกกร่อนได้ง่าย นั่นเอง
2. ปัจจัยเฉพาะที่ เช่น ตำแหน่งของข้อ การบาดเจ็บที่ข้อ
ตำแหน่งของข้อ ซึ่งมีผลอย่างมาก เนื่องจากเป็นบริเวณที่มีผลต่อการต้องรับน้ำหนัก เช่น ข้อเข่า ข้อเท้า ข้อนิ้วหัวแม่เท้า ข้อสะโพก เป็นต้น และแต่ละข้อก็มีเอนไซม์และการตอบสนองต่อการอักเสบแตกต่างกัน
การบาดเจ็บ เป็นจุดเริ่มต้นของโรคข้อเสื่อม ซึ่งอาจจะเกิดจากการบาดเจ็บเล็กน้อยและเป็นซ้ำๆจนกลายมาเป็นโรคข้อเสื่อมได้
อาการและอาการแสดงของโรคข้อเข่าเสื่อม
อาการทั่วไปของโรคข้อเข้าเสื่อม เช่น อาการบวมปวด ฝืดตึงข้อตอนเช้า ปวดเสียดในข้อ อาจได้ยินเสียงหรือรู้สึกกุบกับภายในข้อ และมักมีอาการมากขึ้นเมื่อมีการเคลื่อนไหวหรือหลังการใช้งานข้อมากขึ้น เป็นต้น
ภาวะแทรกซ้อนของโรคข้อเสื่อม
ภาวะแทรกซ้อนของโรคข้อเสื่อมอาจแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับตำแหน่งของข้อต่อที่มีอาการ และความรุนแรงของอาการด้วย เช่น มีอาการปวดเรื้อรัง เสียการทรงตัว เสี่ยงต่อการหกล้ม เลือดออกภายในข้อต่อ ข้อต่อติดเชื้อ กระดูกตายจากการขาดเลือด เส้นประสาทถูกกดทับ กล้ามเนื้ออ่อนแรง ข้อต่อผิดรูป เป็นต้น
การรักษาปัจจุบัน
เป้าหมายของการรักษา ก็คือ ลดอาการทรมานจากการปวดและรักษาการทำงานของข้อต่อให้สามารถใช้งานได้ตามปกติให้ได้นานที่สุด ฉะนั้น การรักษาจึงไม่เพียงแค่ให้ยาเพื่อบรรเทาอาการปวดเท่านั้น แต่จะต้องรักษาด้วยการทำกายภาพบำบัดร่วมด้วย
ปัจจุบันมียาที่ใช้ในการรักษาโรคข้อเสื่อมหลากหลายรูปแบบ ทั้งชนิดทาภายนอก ฉีดเข้าข้อ และรับประทาน ยาทาภายนอก เช่น เจลที่ทำจากส่วนประกอบของพริก ยารับประทาน เช่น ยาต้านการอักเสบกลุ่มที่ไม่ใช่ยาสเตียรอยด์ ซึ่งมีสรรพคุณในการบรรเทาอาการปวด ลดการอักเสบและลดอาการบวมของข้อแต่ถ้ามีอาการปวดที่รุนแรงอาจต้องใช้ยาในกลุ่มกลุ่มอนุพันธ์ของมอร์ฟีน เป็นต้น
การใช้สมุนไพรรักษาโรคข้อเสื่อม
ขมิ้น
ขมิ้น ไม่ได้มีสรรพคุณแค่บำรุงผิว แก้อาการปวดท้องเนื่องจากกรดในกระเพาะอาหารเยอะเท่านั้น แต่ยังรักษาอาการปวดเข่าได้เป็นอย่างดีอีกด้วย โดยการนำผงขมิ้นมาประคบบริเวณที่ปวด หรือรับประทานก็สามารถช่วยได้เช่นกัน เพราะขมิ้นชันมีสรรพคุณแก้อักเสบของข้อได้
ขิง
ขิง สามารถบรรเทาอาการปวด และลดการอักเสบภายได้ การใช้ขิงเพื่อบรรเทาอาการปวดข้อ ก็สามรถทำได้โดยการจิบเป็นน้ำชา หรือถ้าอยากรักษาอาการปวดเข่าจากภายนอก ก็สามารถนำขิงมาบดให้ละเอียดผสมน้ำมันมะกอกมาพอกบริเวณเข่าที่ปวด 10-15 นาที ก็สามารถบรรเทาอาการปวดได้แล้ว
งา
งา เป็นพืชน้ำมันบำรุงชั้นยอด โดยเฉพาะงาดำ ซึ่งอุดมไปด้วยสารอาหารที่สำคัญ เช่น แคลเซียมและฟอสฟอรัส และสารที่ช่วยลดอาการข้ออักเสบ เช่น สารเซซามิน เป็นต้น
ระบบเอ็นโดแคนนาบินอยด์เกี่ยวข้องอะไรกับโรคข้อเสื่อม
ระบบเอ็นโดแคนนาบินอยด์ พบว่า มีผลในเรื่องการควบคุมการอักเสบและการปวดที่ข้อได้ ซึ่งเกี่ยวข้องกับระบบข้อและกระดูกด้วยเช่นกัน
นอกจากนี้ ระบบเอ็นโดแคนนาบินอยด์ยังเกี่ยวข้องกับการควบคุมความแข็งแรงของกระดูกหรือมวลกระดูก ซึ่งมีการส่งสัญญานผ่านไปยังเซลล์กระดูกทั้งสองแบบได้ ซึ่งก็คือ
เซลล์สร้างกระดูก (Osteblasts) และ เซลล์สลายกระดูก (Osteoclasts) ซึ่งระบบเอ็นโดแคนนาบินอยด์จะคอยควบคุมความสมดุลการทำงานของเซลล์กระดูกเหล่านี้ ไม่ให้มีความผิดปกติ หรือ การทำงานอย่างใดอย่างหนึ่งมากเกินไป
การส่งสัญญานของระบบเอ็นโดแคนนาบินอยด์ในระบบกระดูกนี้ มีการศึกษาบว่า เป็นการศึกษาผ่านไปยังตัวรับ CB2 เป็นหลัก ทั้งในการสร้างและการสลายกระดูก
ซึ่งมีการศึกษาพบว่า การออกฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของตัวรับ CB2 มีผลทำให้กระบวนการสลายมวลกระดูกทำงานลดลง
และมีการศึกษาพบว่า ยาแก้ปวดในกลุ่ม NSAID หรือยาแก้ปวดส่วนใหญ่ที่เราใช้ เช่น ไอบรูโพรเฟน อินโดเมทาซิน ซึ่งยาแก้ปวดเหล่านี้จะออกฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ COX เพื่อลดอาการปวดและการอักเสบ
จากภาพประกอบด้านล่าง จะเห็นว่า สารไฟโตแคนนาบินอยด์ จากกัญชา หรือ กัญชง สามารถออกฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ COX-1 และ COX-2 ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่ทำให้เกิดการปวด การอักเสบเกิดขึ้น แบบเดียวกับที่ยาเคมีไปออกฤทธิ์
ดังนั้น กัญชา กัญชง จึงจะช่วยผู้ป่วยโรคข้อเสื่อมได้ นั่นเอง
นอกจากนี้ยาแก้ปวดเหล่านี้ ยังมีผลในการยับยั้งเอนไซม์ FAAH ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่ทำหน้าที่ทำลายสารเอ็นโดแคนนาบินอยด์ ที่ชื่อว่า AEA
ซึ่งผลจากตรงนี้ ก็จะทำให้เราเห็นว่า การใช้ยาแก้ปวดจะช่วยเสริมฤทธิ์แก้ปวดของสารเอ็นโดแคนนาบินอยด์ AEA
ระบบเอ็นโดแคนนาบินอยด์ ที่ทำงานด้วยสารเอ็นโดแคนนาบินอยด์ที่ร่างกายสร้างขึ้นเอง เช่น สาร AEA และ สาร 2-AG ยังช่วยลดสารที่ก่อให้เกิดการอักเสบ ซึ่งเป็นต้นเหตุที่จะนำไปสู่การทำให้เกิดข้อเสื่อมได้ตามมา
ฉะนั้น ระบบเอ็นโดแคนนาบินอยด์เกี่ยวข้องกับโรคข้อเสื่อม ก็คือ ช่วยควบคุมการอักเสบที่ข้อ และช่วยควบคุมความสมดุลของเซลล์ที่สร้างกระดูกและเซลล์ที่สลายกระดูกให้มีความสมดุล ไม่ทำให้เกิดมวลกระดูกถูกสลายออกไปมากจนเกินไป จนทำให้เกิดข้อเสื่อมตามมา นั่นเอง
ทำไมต้องใช้กัญชา
กัญชา จัดเป็นสมุนไพรชนิดหนึ่ง ที่อุดมไปด้วยสารไฟโตแคนนาบินอยด์ ซึ่งเป็นสารที่สามารถทำงานหรือมีบทบาทคล้ายกันกับสารเอ็นโดแคนนาบินอยด์ที่ร่างกายสร้างขึ้นเอง
ซึ่งในปัจจุบันเราทราบว่า ระบบเอ็นโดแคนนาบินอยด์ เข้ามามีบทบาทหรือเกี่ยวข้องกับการเกิดโรคข้อเสื่อมขึ้นได้ ในระดับเซลล์ เป็นผลให้มีการใช้ยาหรือสมุนไพรที่มีสรรพคุณในการไปมีบทบาทในระบบนี้
จากภาพประกอบด้านล่าง จะเห็นว่า สารไฟโตแคนนาบินอยด์ที่ได้จากกัญชา หรือ กัญชง สามารถเข้าไปออกฤทธิ์ผ่านระบบเอ็นโดแคนนาบินอยด์ ณ ตำแหน่งต่างๆ ที่มีส่วนทำให้สามารถยับยั้งหรือลดอาการปวด หรือ อาการอักเสบที่เกิดขึ้นได้ เป็นต้น
สารไฟโตแคนนาบินอยด์จากกัญชา จึงอาจมีคุณสมบัติในการเข้าไปจัดการโรคข้อเสื่อมนี้ได้โดยตรง
ดังนั้น ทำไมต้องใช้กัญชาในโรคข้อเสื่อม ก็เพราะว่า ส่วนหนึ่งของโรคข้อเสื่อมเกิดการทำงานที่ผิดปกติของระบบเอ็นโดแคนนาบินอยด์ และกัญชาสามารถแก้ไขความผิดปกติของระบบที่ทำให้โรคข้อเสื่อมเกิดขึ้นตรงนี้ นั่นเอง
กัญชาเกี่ยวข้องกับโรคข้อเสื่อมอย่างไร
การอักเสบ เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ผู้ป่วยโรคข้อเสื่อม มีอาการที่รุนแรงขึ้น รวมทั้งมีการปวด บวม ที่บริเวณข้อต่อด้วย ซึ่งการอักเสบ และ การปวดของภาวะโรคนี้ เนื่องจากการมีกระบวนการกระตุ้นให้มีการหลั่งสารที่ก่อให้เกิดการอักเสบเข้ามาทำลายบริเวณข้อได้ ทำให้ความรุนแรงของข้อเพิ่มมากยิ่งขึ้น
สารไฟโตแคนนาบินอยด์จากกัญชา สามารถออกฤทธิ์ลดการอักเสบและการปวดได้ โดยเฉพาะการออกฤทธิ์ผ่านตัวรับ CB2 ทำให้หยุดกระบวนการอักเสบได้ หยุดการหลั่งสารที่ก่อให้เกิดการอักเสบได้ รวมทั้งหยุดหรือยับยั้งการส่งสัญญานการปวดที่จะเกิดขึ้นกับผู้ป่วยได้
นอกจากนั้น ยังพบว่า สารไฟโตแคนนาบินอยด์ ที่พบในรากของต้นกัญชา หรือ กัญชง สามารถมีสรรพคุณในการลดการอักเสบ ลดปวด ในผู้ป่วยโรคข้อเสื่อมได้
แนวทางการใช้กัญชา ร่วมกับสมุนไพรอื่น ในการรักษาโรคข้อเสื่อม
สารไฟโตแคนนาบินอยด์จากกัญชา สามารถเกิดปฏิกิริยากับยาเคมีหรือสมุนไพรชนิดอื่นๆได้ ถึงแม้จะมีรายงานการศึกษาว่า การใช้สารไฟโตแคนนาบินอยด์ สามารถส่งเสริมฤทธิ์ของยาในกลุ่มแก้ปวดได้ หรือ สามารถลดการใช้ยาแก้ปวดลงได้
แต่ก็ต้องระมัดระวังในการใช้ร่วมกันอยู่ดี ซึ่งต้องพิจารณาเป็นกรณีๆไป เพราะการตีกันของยาเมื่อมีการใช้ยาหลายชนิดร่วมกันอาจก่อให้เกิดอาการข้างเคียงที่อาจส่งผลอันตรายต่อร่างกายได้
กัญชา กัญชง มีสรรพคุณทางการแพทย์ ที่มีการใช้จริง เพื่อบรรเทาอาการปวดข้อ อักเสบของข้อ แล้วพบว่า อาการของการปวด หรือ อักเสบ ดีขึ้น ผู้ป่วยได้ประโยชน์จริง
สั่งซื้อหนังสือ ได้ตามรายละเอียดด้านล่างครับ
เอกสารอ้างอิง
Researches of Thai Herbs for Osteoarthritis Treatment. KKU Sci. J. 42(2) 289-302 (2014)
Characterisation of the cannabinoid receptor system in synovial tissue and fluid in patients with osteoarthritis and rheumatoid arthritis. Arthritis Research & Therapy 2008, 10:R43
Involvement of the endocannabinoid system in osteoarthritis pain. Eur J Neurosci. 2014 Feb;39(3):485-500.
Role of the endocannabinoid system in the emotional manifestations of osteoarthritis pain. Pain. 2015 Oct; 156(10): 2001–2012.
Changes in Monoaminergic Neurotransmission in an Animal Model of Osteoarthritis: The Role of Endocannabinoid Signaling. Front. Mol. Neurosci.2018 : 11:466.
More Science Less Marketing
ภก.พงษ์ศักดิ์ สง่าศรี